เมื่อเราพูดถึงสถานที่อันเป็นสัญลักษณ์ของกรุงปารีส เรามักจะนึกถึงหอไอเฟล หอคอยโครงสร้างเหล็กชิ้นนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของงานแสดงสินค้าโลกในปีค.ศ. 1889 โดยในทีแรกไม่มีใครคาดคิดว่าสิ่งก่อสร้างชิ้นนี้จะตั้งอยู่ยาวนานข้ามศตวรรษ เมื่อกล่าวถึงสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯคนส่วนมากก็มักจะนึกถึงวัดอรุณ หรือวัดแจ้ง จากภาพนี้จะเห็นว่าสิ่งก่อสร้างทั้งสองสิ่งนี้ถูกรวมเข้าไว้ด้วยกันหน้าลานน้ำพุทรอกาเดโร น้ำในสระเชื่อมโยงและสะท้อนให้เห็นถึงเงาประติมากรรมที่มีชื่อเสียงของกรุงเทพฯและกรุงปารีส ภาพดังกล่าวให้ความรู้สึกราวกับว่าเวลาหยุดหมุนและผลงานทั้งสองชิ้นนี้จะหยัดยืนเป็นสัญลักษณ์ของทั้งสองประเทศไปชั่วนิรันดร์ ทางด้านขวามือมีรูปปั้นกินรีจากวัดพระแก้วซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งวงการนาฏกรรมไทยความงดงามและความสำเร็จ นอกจากนี้รูปปั้นกินรีขนาดเล็กยังได้รับการนำมาประดับเป็นถ้วยรางวัลของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯอีกด้วย ส่วนทางด้านซ้ายมือนั้นเราสามารถชื่นชมความงามของประติมากรรมอันเป็นตัวแทนของความลุ่มลึกในห้วงอารมณ์และเป็นสิ่งเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รูปปั้น "คนครุ่นคิด" (Penseur) ของโรแด็ง แสดงให้เห็นถึงภาพของชายผู้กำลังใคร่ครวญ ส่วนรูปปั้น "เทวดายิ้ม" (L'Ange au sourire) ซึ่งเป็นรูปปั้นที่ตั้งอยู่หน้ามหาวิหารแร็งส์ประเทศฝรั่งเศสนั้น เผยให้เห็นถึงความดีอันสูงส่งภายใต้รอยยิ้มที่อบอุ่น และรูปปั้น "หญิงวิงวอน' (L'Implorante) ของศิลปินชื่อกามีย์ กลอแดลนั้นก็สื่อถึงความทุกข์ทรมานที่เกิดจากความรักอันแรงกล้า